วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพระยะใกล้ close up


การถ่ายภาพระยะใกล้
(Close-up)




ภาพระยะใกล้ คือ ภาพวัตถุที่มีลักษณะเล็กและถ่ายใกล้เพื่อให้เห็นส่วนละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ดอกไม้เล็กๆ แมลงและวัตถุต่างๆ เป็นต้น
การถ่ายภาพประเภทนี้ต้องใช้เลนส์ถ่ายใกล้ (Close-up) ช่วยเพื่อให้สามารถเข้าใกล้และได้ระยะความคมชัด แม้กล้องถ่ายรูปดีๆ ในปัจจุบันจะสามารถปรับภาพให้ชัดได้ใกล้ที่สุดประมาณ 1- 1 1/2 ฟุต ก็ตาม แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพให้ใกล้เข้าไปกว่านั้น จะต้องใช้เลนส์ถ่ายใกล้ซึ่งเป็นเลนส์โพสิทีฟ มีรูปร่างและการใช้งานเหมือนกับฟิลเตอร์ทั่วๆ ไป แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าของสี
ดังนั้นเมื่อนำไปสวมไว้หน้าเลนส์ของกล้องถ่ายรูปแล้ว จะช่วยให้ความยาวโฟกัสเปลี่ยนไป ทำให้สามารถปรับความชัดของภาพได้ใกล้กว่าเลนส์ธรรมดา แต่จะมีระยะความชัดลึกของภาพน้อยมาก ดังนั้นเมื่อสวมเลนส์ถ่ายใกล้เพื่อถ่ายภาพจึงควรเปิดรูรับแสงให้แคบ เพื่อให้ภาพมีความคมชัดลึก ที่ขอบวงแหวนของเลนส์ถ่ายใกล้จะมีตัวเลขบอกถึงกำลังขยายของภาพไว้ เช่น +1, +2 ,+3 เป็นต้น
เราอาจใช้เลนส์ถ่ายใกล้สวมหน้าเลนส์ทีละขนาดตามแต่ระยะความใกล้ หรือจะใช้หลายขนาดพร้อมกันเพื่อเพิ่มกำลังขยายก็ได้ โดยสวมซ้อนกันไว้ เอาเลนส์ถ่ายใกล้ที่มีตัวเลขมากที่สุดไว้ใกล้เลนส์ของกล้องเรียงมาตามลำดับ แต่ภาพที่ได้จะมีระยะความคมชัดน้อยถ้าหากใช้ซ้อนกันหลายขนาด

การถ่ายภาพด้วยเลนส์ถ่ายใกล้ (Close-up) นักถ่ายภาพมืออาชีพ นิยมใช้เลนส์มาโคร (Macro lens) ซึ่งออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพใกล้ ทั้งนี้เพื่อขจัดปัญหาเรื่องช่วงระยะความคมชัดน้อย ซึ่งเกิดจากการใช้ฟิลเตอร์ถ่ายใกล้หลายๆ อันซ้อนกัน แต่ราคาของเลนส์มาโครจะแพงกว่าเลนส์ธรรมดาโดยทั่วไป ซึ่งจะไม่มีความเหลื่อม (Parallax)
เพราะภาพที่เห็นจากช่องมองภาพของกล้องนั้น เป็นภาพที่มองตรงผ่านเลนส์เข้ามาโดยตรง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้กล้องแบบสะท้อนเลนส์คู่ ก็อาจแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความเหลื่อมของกล้องได้โดย การตั้งกล้องให้เหลื่อมขึ้นข้างบนเล็กน้อย หลังจากจัดภาพให้อยู่ตรงกลางก็จะได้ภาพตามที่มองเห็น
สำหรับการตั้งหน้ากล้องและความเร็วชัตเตอร์ก็ใช้หลักการเหมือนกับการถ่ายภาพโดยทั่วๆ ไป แต่ทั้งนี้เพื่อความคมชัดจึงต้องเปิดหน้ากล้องให้แคบ จึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์เพื่อช่วยในการถ่ายภาพ ความสวยงามของภาพประเภทนี้อยู่ที่องค์ประกอบ ลักษณะของแสง เงา และการจัดองค์ประกอบภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น